วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2551

โครงการ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย



พื้นที่ดำเนินงานโครงการ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี ทรงมีรับสั่งเรื่องการพัฒนาดอยตุง เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ เนื่องจากพบว่า ดอยตุงประสบปัญหาสภาพป่าถูกทำลาย มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย และปลูกฝิ่น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน สำนักงานประสานงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง ได้ดำเนินงานสนองพระราชดำริอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรตามพระราชดำริที่ได้พระราชทานไว้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บริเวณโครงการให้มีสภาพป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และรักษาให้เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารที่ถาวรตลอดไป รวมถึงเพื่อศึกษา ทดสอบ และพัฒนาการปลูกพืช ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ และผลิตพันธุ์ เพื่อสนับสนุน แก่ราษฎรในพื้นที่ และเพื่อพัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชนใน พื้นที่โครงการให้มีสภาพความเป็นอยู่ด้านเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จนถึงปัจจุบัน มีผลการดำเนินงาน ๒ ระยะ คือช่วงระหว่าง
พ.ศ. ๒๕๓๑ – พ.ศ. ๒๕๓๖ และช่วงระหว่างพ.ศ. ๒๕๓๗ – พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนี้
๑.การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการป้องกันรักษาพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร จำนวน ๒๖,๓๗๓ ไร่ มิให้ถูกบุกรุกทำลายและฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลาย จำนวน ๕๓,๔๔๗ ไร่ โดยจากการพัฒนายังผลให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๔๕ เป็นร้อยละ ๘๕ ของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการ นอกจากนี้ยังดำเนินกิจกรรมร่วมกับภาคเอกชนและราษฎรในพื้นที่ด้วยการดำเนินกิจกรรมปลูกป่าที่สำคัญ เช่น โครงการปลูกป่าเทิดพระเกียรติ จำนวน ๑๑,๒๙๕ ไร่ ปลูกป่ามูลนิธิชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง จำนวน ๔,๐๐๐ ไร่ ซึ่งจากการดำเนินการ ส่งผลให้พื้นที่ป่าดอยตุงเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด จากสถิติการเกิดไฟป่าและพื้นที่ที่ถูกไฟป่าทำลายลดลง รวมถึงพรรณไม้มีความหลากหลายขึ้น ยังผลให้พื้นที่ดอยตุงมีปริมาณน้ำฝนต่อปีเพิ่มขึ้นและมีความชื้นสัมพันธ์
๒.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จากการดำเนินการจัดบริการขั้นพื้นฐานว ทำให้มีเส้นทางคมนาคมเข้าถึงทุกพื้นที่ของโครงการ และใช้งานได้ทุกฤดูกาล มีแหล่งน้ำครอบคลุมทุกพื้นที่
๓.การพัฒนาอาชีพและรายได้ ผลที่ได้รับจากการพัฒนาที่ผ่านมา ทำให้รายได้ของราษฎรในพื้นที่โครงการมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทุกครอบครัวมีรายได้สุทธิเพียงพอที่จะทำให้เกิดการออมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
๔.การพัฒนาการศึกษา ในพื้นที่ของโครงการปัจจุบัน มีแหล่งบริการด้านการศึกษา ทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง รวมถึงราษฎรในพื้นที่ได้รับการศึกษาเพิ่มขึ้น และสามารถอ่าน ฟัง พูด และเขียนภาษาไทยได้เกินกว่าครึ่งของราษฎรทั้งหมด
๕.ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่โครงการ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูและบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด รวมถึงได้นำมาตรการทางกฎหมายมาใช้ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากราษฎรในหมู่บ้าน ช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: